Diaphragm วาล์ว

วาล์วทุกชนิดจะมีข้อเสียอยู่อย่างคือของไหลที่ไหลอยู่ในท่อมีโอกาสที่จะรั่วซึมออกมาทางผิวสัมผัสที่เกิดจากการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัววาล์วเข้าด้วยกัน (โดยเฉพาะตามแนว stem ออกมา) ในกรณีของสารเคมีที่เป็นอันตรายมาก การรั่วไหลดังกล่าวแม้ว่าจะน้อยมากก็ไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งในงานแบบนี้ Diaphragm  วาล์ว จะทำหน้าที่ได้ดีกว่า

sisto-16twa-diaphragm-valve-img

การทำงานของ Diaphragm  วาล์ว  จะใช้การกดแผ่นไดอะแฟรม (1) ซึ่งทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (ซึ่งมักเป็นวัสดุพวกพอลิเมอร์) ให้ลงไปกดแนบกับ seat (2) ที่อยู่ข้างล่าง ก็จะเป็นการปิดวาล์ว เมื่อเราลดแรงกดด้วยการขันนอตที่ทำหน้าที่กดแผ่นไดอะแฟรมให้ยกตัวสูงขึ้น ตัวแผ่นไดอะแฟรมก็จะยกตัวขึ้นด้วยคุณสมบัติการยืดหยุ่นของมันเอง ทำให้วาล์วเปิดตัว หลักการเดียวกันกับเวลาที่หมอหรือพยาบาลปรับอัตราการไหลของน้ำเกลือที่ใหักับผู้ป่วย ซึ่งเขาใช้วิธีบีบสายยางให้น้ำเกลือ (ไม่รู้ว่าเคยโดนบ้างหรือยัง ถ้ายังไม่เคยโดยก็ถือว่าโชคดีมาก)

ไดอะแฟรมวาล์วทำงานได้ดีกับของเหลวที่มีของแข็งแขวนลอยปะปนอยู่ เพราะแม้ว่าจะมีของแข็งตกค้างอยู่บริเวณ seat ในขณะที่ทำการปิดวาล์ว แต่ด้วยความยืดหยุ่นของแผ่นไดอะแฟรมเองก็ทำให้สามารถปิดวาล์วได้สนิทได้ แต่การใช้แผ่นไดอะแฟรมทำให้วาล์วชนิดนี้ไม่สามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิและความดันที่สูง